สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีชื่อสลาแมนเดอร์มีอยู่ด้วยกันถึง 500 ชนิด มีทุกขนาดและรูปร่างเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ของจีน (ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Andrias davidianus) ซึ่งมีความยาวถึง 1.8 เมตร และหนัก 32.5 กิโลกรัม ไปจนถึงชนิดเล็กสุดๆ อย่าง ทอริอุส (Thorius) ด้วยความยาวแค่ 1.3 เซนติเมตร มันเป็นสัตว์บกมีกระดูกสันหลังที่มีขนาดเล็กที่สุด และยังเป็นสัตว์ตัวเล็กที่สุดที่มีตาใช้การได้ดี
จิ้งจกน้ำ (ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Ambystoma mexicanum) เป็นซาลาแมนเดอร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เราพบมันได้แค่ในทะเลสาบแห่งหนึ่งของประเทศแมกซิโกเท่านั้น ณ จุดหนึ่งของกระบวนการวิวัฒนาการ จิ้งจกน้ำหยุดการพัฒนาไปสู่ตัวเต็มวัย และปัจจุบันมันใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดอยู่ใต้น้ำในรูปแบบของลูกอ๊อดยักษ์ ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไมจิ้งจกน้ำเลือกที่จะก้าวถอยหลังกลับไป บางทีมันอาจถูกกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ทะเลสาบที่โหดร้ายมากขึ้น แต่ประเด็นนั้นเหมือนจะไม่ได้สร้างความหนักใจให้กับซาลาแมนเดอร์ชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ตรงนั้นเลย ในบางโอกาส มันจะเติบโตขึ้นจนดูคล้ายกับซาลาแมนเดอร์เสือที่โตเต็มวัย (ซึ่งเราสามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ด้วยการฉีดฮอร์โมนเข้าไปในตัวมัน) ในปัจจุบัน ร้อยละ 99 ของจิ้งจกน้ำบนโลกถูกเลี้ยงไว้ในที่เพาะเลี้ยง ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานของจิ้งจกน้ำหกตัวแรกที่เดินทางมาถึงห้องทดลองของนักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ออกุสต์ ดูเมคริล ในกรุงปารีสเมื่อปี 1863
ซาลาแมนเดอร์เป็นสัตว์ที่อยู่ติดบ้านมาก ตลอดทั้งชีวิตมันจะเดินทางไปไกลจากสถานที่เกิดไม่เกิน 1.6 กิโลเมตร พฤติกรรมดังกล่าวนำมาซึ่งอันตรายถึงตายเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไป ซาลาแมนเดอร์จำนวนมากตายลงเมื่อฤดูหนาวได้เข้ามาถึง
แต่ก็ยังมีซาลาแมนเดอร์ชนิดหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาข้างต้นได้ ด้วยการผลิตสารต่อต้านการแข็งตัวก่อนที่จะจำศีล ซาลาแมนเดอร์ไซบีเรีย (ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Hynobias keyserlingii) สามารถอยู่รอดได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -50 องศาเซลเซียส มันสามารถอยู่ในสภาพที่ถูกแช่แข็งได้นานหลายปี บางตัวอาจจะยังหลับอยู่ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายสิ้นสุดลงเมื่อ 10,000 ปีก่อนก็เป็นได้
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับซาลาแมนเดอร์ที่คงทนที่สุดคือ มันสามารถอาศัยอยู่ในกองไฟ และสามารถพ่นไฟได้ด้วยสารที่หลั่งออกมาทางผิวหนังของมัน (แร่ใยหินแต่เดิมเรียกกันว่า “ขนของซาลาแมนเดอร์”) ไม่มีใครรู้ว่าความเชื่อดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไรและทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่พวกมันก็มีอุปนิสัยที่เป็นอันตรายถึงชีวิตอยู่เหมือนกัน นั่นคือ การนอนหลับท่ามกลางกองฟืนชื้นๆ
นิวต์ (Newt) เป็นซาลาแมนเดอร์ที่ต้องกลับลงไปในน้ำเพื่อผสมพันธุ์ มันเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังชนิดเดียวที่สามารถงอกชิ้นส่วนใหญ่ๆ ของร่างกายขึ้นมาใหม่ได้ เช่น ขา ไขสันหลัง หัวใจ ขากรรไกร หาง และ แม้แต่ดวงตา
เซลล์ของนิวต์สามารถย้อนกระบวนการเติบโตได้ใหม่ ในระหว่างกำลังซ่อมแซมส่วนที่ถูกทำลาย เซลล์จะย้อนกลับไปยังการทำงานในระยะแรกเริ่ม และกลายสภาพไปเป็นก้อนเนื้อที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างที่เรียกว่า บลาสทีมา (blastema) ซึ่งขาหรือเนื้อเยื่อจะเจริญเติบโตจากตรงนี้ ถ้าเราเคลื่อนย้ายบลาสทีมาไปยังส่วนอื่นๆ ในร่างกายของซาลาแมนเดอร์ ชิ้นส่วนที่ขาดหายไปจะงอกออกมาจากตรงนั้นแทน
เรายังไม่เข้าใจว่าเซลล์ของซาลาแมนเดอร์รู้ได้อย่างไรว่าต้องสร้างสิ่งใดขึ้นมา แต่ก็ได้มีการศึกษาซาลาแมนเดอร์อย่างจริงจังเพื่อดูว่าจะกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่ นอกจากนี้ เนื่องจากเนื้อร้ายก็ดูเหมือนจะเติบโตในแบบที่คล้ายคลึงกันมาก (การฉีดเนื้อเยื่อมะเร็งเข้าไปในนิวต์ทำให้เกิดขางอกขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน) มันจึงอาจเก็บซ่อนเงื่อนงำที่สำคัญบางอย่างในการต่อสู้กับโรคมะเร็งเอาไว้ก็ได้