ไข่ปลาคาเวียร์อัลมาส (ภาษาเปอร์เซี่ยนแปลว่า “เพชร”) ที่ได้มาจากปลา “เบลูก้า สเตอเจียน” อายุหนึ่งร้อยปีขึ้นไป ถือเป็นไข่ปลาคาเวียร์ที่หายากที่สุด และมีราคาแพงที่สุด โดยมีราคาสูงถึงเกือบ 25,000 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ก.ก. (ประมาณ 850,000บาท/ก.ก.) ในขณะที่ราคาเฉลี่ยของเบลูก้า คาเวียร์ โดยทั่วไปในปัจจุบันจะอยู่ที่ 7,000 – 10,000เหรียญสหรัฐต่อ 1 ก.ก.(ราว 2.38 -3.4 แสนบาท/ก.ก.)
ในปัจจุบันทั้งในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ มีการล่าจับปลาสเตอร์เจียนกันมาก จนองค์การ CITES (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการค้าสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมดราว 30,000 ชนิด ได้เข้ามาควบคุมการทำร้ายปลาสเตอร์เจียนด้วย เพื่อไม่ให้สูญพันธ์ ทั้งนี้เพราะได้มีการพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า คาเวียร์ จากทะเลสาบแคสเปียนมีคุณภาพดีที่สุด จึงทำให้มีการซื้อขายคาเวียร์ทำเงินได้ปีละตั้งแต่ 2,000–4,000 ล้านเหรียญ แต่ CITES ก็ตระหนักดีว่าการปกป้องคุ้มครองปลาจำพวกนี้นั้น จำต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งศุลกากร, นักวิทยาศาสตร์ และชาวประมง จึงได้ออกกฎหมายบังคับห้ามจับปลาสเตอร์เจียน ในปริมาณที่เกินกำหนด อีกทั้งห้ามชาวประมงไม่ให้สร้างมลภาวะที่ร้ายแรงในทะเลสาบ และห้ามฆ่าปลาสเตอร์เจียนในช่วงก่อนอายุวางไข่ (15 ปี) รวมถึงให้มีการจำกัดโควตาการผลิต คาเวียร์ โดยให้ทุกประเทศที่อยู่เรียงรายรอบทะเลสาบแคสเปียนปฏิบัติตาม
|
|